ความปลอดภัยของสนามเด็กเล่น

ของเล่นตามมาตรฐาน

"ของเล่น" ความหมายตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐาน คือ ผลิตภัณฑ์ที่มีการออกแบบและทำให้เด็กที่มีอายุไม่เกิน 14 ปีเล่น ซึ้งควบคุมในเรื่องวัสดุที่ใช้ผลิต ลักษณะทั่วไป คุณลักษณะเฉพาะแบบ คุณลักษณะทางเคมี (ปริมาณโลหะหนัก) และคุณลักษณะด้านการติดไฟ โดยครอบคลุมของเล่นทุกประเภท รวมทั้งชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกับของเล่น

ความปลอดภัยของสนามเด็กเล่น

1) พื้นสนาม นี่คือสิ่งที่จะต้องพิจารณาเป็นอันดับแรก พื้นสนามที่ปลอดภัยจะต้องปูพื้นด้วยทรายที่หนาอย่างต่ำ 30 ซม. หรือเป็นพื้นยางสังเคราะห์ที่มีความหนาเหมาะสม เพื่อป้องกันการบาดเจ็บจากการตกลงมาจากเครื่องเล่น หรือหกล้ม จะต้องไม่เป็นพื้นแข็งๆ เช่น พื้นซีเมนต์ พื้นอิฐ กรวด ยางมะตอย หรือทรายอัดแข็ง ซึ่งเสี่ยงต่อการบาดเจ็บอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นแขน ขา หรือศีรษะ

 2) ตรวจเครื่องเล่นเด็กทุกตัว ว่าอยู่ในสภาพแข็งแรงมั่นคงหรือเก่า รวมทั้งดูพื้นผิวของมันด้วยว่ามีร่องรอยหรือไม่? เช่น แผ่นเหล็กโผล่ยื่นมีเสี้ยนไม้ รวมทั้งดูสีที่ใช้ทาด้วย ว่าใหม่แต่ไร้คุณภาพ สีหลุด ลอกโดยง่าย หรือเก่าจนสนิมเขรอะ

3) เครื่องเล่นเด็กแต่ละอย่างตั้งไว้ห่างกันหรือไม่? สนามเด็กเล่นบางแห่งพื้นที่จำกัด เครื่องจึงอัดแน่นจนแทบเบียดชิดกันดูๆ แล้วเสี่ยงต่อการวิ่งชนกันเอง ชนปะทะกับเครื่องเล่น สนามเด็กเล่นที่ดีมีความปลอดภัยนั้น เครื่องเล่นแต่ละอย่างจะต้องจัดให้ห่างกันราว 180 ซม./รอบๆ เครื่องเล่น ส่วนชิงช้าแต่ละตัว จะต้องตั้งห่างกันอย่างน้อย 60 ซม. และห่างจากโครงเสาด้านข้างราว 75 ซม. (ชิงช้าแต่ละชุดไม่ควรเกิน 2 ตัว)

4) กระดานลื่น คือเครื่องเล่นสนามเด็กเล่นที่ทำให้เด็กบาดเจ็บมากที่สุด (40%) สาเหตุก็คือ การพลัดตกลงมาจากที่พักรอด้านบน (ขณะที่กำลังรอลื่นลงมา) และตกลงมาขณะปีนขึ้นบันไดด้านหลัง โดยเฉพาะพื้นสนามที่แข็ง ทำให้เด็กได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ เลือดออกในสมอง และหลายรายก็ถึงกับเสียชีวิต

5) สาเหตุต่อมาก็คือ เครื่องเล่นพลิกคว่ำ! เนื่องจากการติดตั้งที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มั่นคง หรือเพราะมันเก่าเต็มทนแล้ว

6) นอกจากนั้น ยังมีปัญหาที่เกิดจากเสื้อผ้าของเด็ก ทั้งเสื้อผ้าโดยทั่วไป หรือทั้งที่มีลักษณะพิเศษ เช่น มีหมวกติดในตัว มีเชือกผูกรัดรอบคอ มีผ้าคลุมหลัง (เช่นชุดซุปเปอร์แมน) มีส่วนประดับประดา เช่น ดอกไม้ผ้า หรือสายต่างๆ ที่ห้อยอยู่ตามหน้าอก หลัง ไหล่ แขนเสื้อ หรือแม้แต่ผ้าพันคอ เหล่านี้อาจเป็นเหตุให้เกี่ยวรัด หรือไปพันกับเครื่องเล่นในขณะที่ทิ้งตัวลงมา เช่น เล่นกระดานลื่น หรือราวห้อยโหน ทำให้เกิดการบีบรัดลำคอ หรือหลอดลมจนขาดอากาศหายใจ

 7) ชิงช้า เมื่อพาลูกเข้าไปในสนามเด็กเล่น สิ่งที่ต้องระวังไว้ก่อนก็คือระวังชิงช้าจะชนลูก! ไม่ว่าจะเป็นเพราะเด็กอื่นไกวชิงช้าแรง แล้วเหวี่ยงเข้ามาชน หรือลูกของเราวิ่งไปอยู่ในรัศมีที่มันแกว่งเข้ามา อย่าให้เด็กไกวชิงช้าแบบเร็วๆ หรือผาดโผนเป็นอันขาด และจะดีมากหากที่นั่งของชิงช้าทำด้วยยางหรือผ้าใบอย่างหนา ไม่ใช่ทำด้วยไม้หรือเหล็ก

8) เครื่องเล่นปีนป่าย ที่เหมาะสมกับเด็กนั้นจะต้องมีความสูงไม่เกิน 180 ซม. สำหรับเด็กเกิน 5 ขวบ และไม่เกิน 120 ซม. สำหรับเด็กต่ำกว่า 5 ขวบ โดยวัดจากพื้นถึงยอดของเครื่องเล่น หากสูงกว่านี้ก็ไม่เหมาะกับเด็กๆ แล้วล่ะครับ เพราะไม่มีประโยชน์อะไรกับลูกเลย หนำซ้ำยังเสี่ยงต่อการบาดเจ็บที่รุนแรงอีกด้วย

 และต้องหมั่นดูลูกด้วยว่า กำลังใช้มือปีนป่าย ไม่ใช่กำลังห้อยหัวแล้วใช้ขาเกี่ยวราวเหล็ก หรือกำลังพยายามเอาศีรษะลอดเข้าไปในช่องว่างระหว่างราวเหล็ก! ดังนั้นระหว่างราวเหล็กแต่ละอัน จะต้องมีความกว้างกว่า 23 ซม.

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

Visitors: 105,189